การแบ่งกลุ่มภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข

การแบ่งกลุ่มภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข : แบ่งตามสาเหตุของโรคและภัยคุกคามสุขภาพออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
1.การใช้อาวุธชีวภาพ (Bioterrorism emergencies) เชื้อที่อาจนำมาใช้ได้ เช่น แอนแทรกซ์ และ ไข้ทรพิษ
2.ภาวะฉุกเฉินจากสารเคมี (Chemical emergencies) ได้แก่ chlorine sarin สารที่มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท เช่น Organophosphate
3.ภาวะฉุกเฉินทางรังสี ( Radiation emergencies) ซึ่งเป็นได้ทั้งอุบัติเหตุและการก่อการร้าย (Nuclear & Radiological accident / terrorism)
4. อุบัติเหตุกลุ่มชน ( Mass casualties) จากอุบัติภัยขนาดใหญ่ เช่น การระเบิด (Explosions / Blasts) ผิวหนังไหม้ ( Burn) และการบาดเจ็บ (Injuries)
5.ภัยจากธรรมชาติและอากาศเลวร้าย ( Natural disasters and severe wealth) เช่น วาตภัย อัคคีภัย และธรณีพิบัติภัย
6.การระบาดของโรคที่พบบ่อยในพื้นที่ และอุบัติการณ์ของโรคที่สำคัญ (Recent Outbreaks and Incidents) เช่น การระบาดของอาหารเป็นพิษ ไข้เลือดออก เลปโตสไปโรซิส และโรคติดเชื้อ อุบัติใหม่เช่น SARS และ ไข้หวัดนก

การจัดระดับความรุนแรงของสาธารณภัยในการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข แบ่งได้ 4 ระดับ
ความรุนแรงระดับที่ 1 : สาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วไปหรือมีขนาดเล็ก ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขในระดับอำเภอสามารถจัดการได้และควบคุมได้
ความรุนแรงระดับที่ 2 : สาธารณภัยขนาดกลาง หน่วยงานสาธารณสุขในระดับอำเภอไม่สามารถจัดการได้ต้องอาศัยการสนับสนุนความช่วยเหลือ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการจัดการระงับภัย
ความรุนแรงระดับที่ 3 : สาธารณภัยขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบรุนแรงกว้างขวาง หรือสาธารณภัยที่จำเป็นต้อง อาศัยผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์พิเศษ ต้องอาศัยการสนับสนุนความช่วยเหลือจากหน่วยงานหลายส่วนราชการภายในเขตจังหวัด / จังหวัดใกล้เคียง และระดับเขต ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์และจัดการระงับภัยได้ ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขระดับเขต เข้าควบคุมสถานการณ์และระดมทรัพยากร จากจังหวัดใกล้เคียงภายในเขตเข้าจัดการระงับภัย และหากไม่สามารถจัดการได้ให้รายงานให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าควบคุมสถานการณ์
ความรุนแรงระดับที่ 4 : สาธารณภัยขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบร้ายแรงอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีหรือ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินการควบคุมสถานการณ์กรณีที่ได้รับมอบหมาย จากนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี
ผลกระทบของสาธารณภัย
1. ผลกระทบต่อชีวิตและการบาดเจ็บของประชาชน ประชาชนสูญหายและตาย
2. ผลกระทบต่อทรัพย์สินของประชาชน
3. ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์วิทยา ทรัพยากรป่าไม้ ปะการัง แหล่ง
น้ำใต้ดิน โครงสร้างการยุบตัวของดิน
4. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เช่น การค้าขาย การประกอบอาชีพ การท่องเที่ยว การคมนาคม
5. ผลกระทบทางจิตใจ รู้สึกกลัว เศร้า สับสน ตระหนกตกใจ หวาดหวั่น นอนไม่หลับ
6. ผลกระทบต่อสังคมและชุมชน สูญเสียความเป็นครอบครัว ชุมชน สังคมที่เคยใช้ชีวิตอยู่
ขั้นตอนการจัดการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเมื่อเกิดภัยพิบัติ


การจัดการภาวะฉุกเฉินทั้ง 3 ระยะ มีความสัมพันธ์กันในลักษณะเป็นวงจร โดยในแต่ละระยะมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน กล่าวคือ การเตรียมความพร้อมที่ดีจะนำไปสู่การตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ในทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น การตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจะนำไปสู่การฟื้นฟูสภาพที่ ระยะเวลาต่างกันซึ่งในแต่ละระยะต้องมีการเตรียมความพร้อมดังนี้
1. ระยะก่อนเกิดภัย : ขั้นเตรียมการ
  1.1.การบรรเทาภัย (Mitigation) หมายถึง กิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการเพื่อกำจัดหรือลดโอกาสในการเกิดหรือลดผลกระทบของการเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขการกำหนดมาตรการป้องกันภัย การจัดทำโครงการบรรเทาภัยก่อนเกิดภัย การจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย ข้อมูลเครือข่ายหน่วยงาน ระบบเฝ้าระวังหรือมีระบบข่าวกรองที่ดีในการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้ จึงมีประโยชน์ในการช่วยให้ชุมชนสามารถดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติหรืหายนะที่จะเกิดขึ้นได้ ในขั้นตอนนี้ต้องบูรณาการทรัพยากรจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการวางแผนทุกด้าน

  1.2.การเตรียมความพร้อม ( Preparedness) รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะที่เกิดต่อเนื่องจากบรรเทาภัย เป็นขั้นตอนในการวางแผน เพื่อการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยสามารถระดมทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างทันท่วงที ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมนี้ จะช่วยคุ้มครองชีวิตและลดการเกิดหายนะ โดยการเตรียมคนให้พร้อมและสามารถตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ได้อย่างเหมาะสมมีแผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน มีการฝึกอบรมความรู้และทักษะในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน มีการซ้อมแผน รวมถึงการเตรียมพร้อมทรัพยากรที่จำเป็น การจัดระบบสื่อสาร ที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน

2.ระยะระหว่างเกิดภัย : ขั้นดำเนินการ
การตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉิน (Response) ต้องดำเนินการทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ มีผู้สั่งการในสถานที่ (Field Commander) บทบาทหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การจัดบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน การควบคุมยับยั้งการเกิดโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ต้องจัดให้มีระบบเฝ้าระวังภายใน 5 วัน หลังเกิดภัยพิบัติ

3.ระยะหลังเกิดภัย : ระยะฟื้นฟู
การฟื้นฟูบูรณะ (Recovery) เป็นระยะสุดท้ายในการจัดวงจรการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ซึ่งต้องดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าระบบทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะปกติ หรือใกล้เคียงปกติโดยเน้นให้มีระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อและส่งมอบภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการฟื้นฟูทางด้านจิตใจของผู้ประสบภัยและครอบครัว